ราชพฤกษ์
ราชพฤกษ์
ราชพฤกษ์ ชื่อสามัญ Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Purging Cassia
ราชพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรราชพฤกษ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปูโย ปีอยู เปอโซ แมะหล่าอยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลักเกลือ ลักเคย (กะเหรี่ยง), ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง), ลมแล้ง (ภาคเหนือ), ราชพฤกษ์ (ภาคใต้), คูน (ทั่วไปเรียกและมักจะเขียนผิดหรือสะกดผิดเป็น “ต้นคูณ” หรือ “คูณ“) เป็นต้น
คำว่า “ราชพฤกษ์” มีความหมายว่า “ต้นไม้ของพระราชา” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานมหกรรมพืชสวนโลกซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี
ต้นราชพฤกษ์ ต้นไม้ประจำชาติไทย
เมื่อปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้มีข้อเสนอและสรุปให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกไม้ สัตว์ และสถาปัตยกรรม ซึ่งจากการพิจารณาได้ข้อสรุปว่า ให้สัตว์ประจำชาติคือ “ช้างไทย” ส่วนในด้านสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ “ศาลาไทย” และในส่วนของดอกไม้ประจำชาติก็คือ “ดอกราชพฤกษ์” โดยมีเหตุผลในการคัดเลือกดังนี้
- ต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ จัดเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย (ตามประกาศของกรมป่าไม้)
- ต้นไม้ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในนามของ “ต้นคูน” สามารถพบเห็นได้ทั่วไปของทุกภาคในประเทศ
- ต้นราชพฤกษ์มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีชาวไทยมาอย่างช้านาน เพราะเป็นไม้มงคลนามและใช้ในการประกอบพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ หลายพิธี เช่น พิธีลงเสาหลักเมือง ทำคทาจอมพล ใช้ทำยอดธงชัยเฉลิมพล เป็นต้น
- ต้นราชพฤกษ์นั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การใช้เป็นยาสมุนไพรหรือนำมาใช้ทำเป็นเสาบ้านเสาเรือนได้ ฯลฯ
- ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนนานและแข็งแรงทนทาน
- ต้นราชพฤกษ์มีรูปทรงและพุ่มที่งดงาม มีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น แลดูสวยงามยิ่งนัก
- ดอกราชพฤกษ์มีสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา และยังเป็นสัญลักษณ์ของวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- นอกจากนี้ตามตำราไม้มงคล 9 ชนิดยังระบุไว้ว่า ต้นราชพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นใหญ่ ความมีอำนาจวาสนา มีโชคมีชัย
สมุนไพรราชพฤกษ์ กับการนำมาใช้รักษาโรคและอาการต่าง ๆ โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยานั้น ได้แก่ ส่วนของใบ ดอก เปลือก ฝัก แก่น กระพี้ ราก และเมล็ด ซึ่งสมุนไพรราชพฤกษ์ เป็นสมุนไพรที่สามารถใช้ได้ทั้งกับเด็ก สตรี รวมไปถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีอันตรายใด ๆ
ลักษณะของต้นราชพฤกษ์
- ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน) เป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียใต้ ไล่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถานไปจนถึงอินเดีย พม่า และประเทศศรีลังกา โดยจัดเป็นพรรณไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยง มักขึ้นทั่วไปตามป่าผลัดใบหรือในดินที่มีการถ่ายเทน้ำดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแล้วย้ายกล้ามาปลูกในถุงเพาะชำ เมื่อโตพอแล้วก็ย้ายมาปลูกในพื้นที่ แต่ในปัจจุบันอาจจะใช้วิธีการทาบกิ่งและเสียบยอดก็ได้ แต่โอกาสสำเร็จจะน้อยกว่าวิธีการเพาะเมล็ด
- ใบราชพฤกษ์ (ใบคูน) ลักษณะของใบออกเป็นช่อ ใบสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และมีใบย่อยเป็นไข่หรือรูปป้อม ๆ ประมาณ 3-6 คู่ ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร โคนใบมนและสอบไปทางปลายใบ เนื้อใบบางเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบถี่และโค้งไปตามรูปใบ
- ดอกราชพฤกษ์ (ดอกคูน) ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย และกลีบดอกยาวกว่ากลีบรองดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่จำนวน 5 กลีบ บริเวณพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน ที่ดอกมีเกสรตัวผู้ขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 ก้าน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ดอกมักจะบานในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่ก็มีบางกรณีที่ออกดอกนอกฤดูเหมือนกัน เช่น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
- ผลราชพฤกษ์ หรือ ฝักราชพฤกษ์ (ฝักคูณ) ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยง ๆ ฝักยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร และวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ราว 2-2.5 เซนติเมตร ฝักอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนฝักแก่จัดจะมีสีดำ ในฝักจะมีผนังเยื่อบาง ๆ ติดกันอยู่เป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก และในช่องจะมีเมล็ดสีน้ำตาลแบน ๆ อยู่ มีขนาดประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร
สรรพคุณของราชพฤกษ์
- ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (เปลือก)
- สารสกัดจากลำต้นและใบของราชพฤกษ์มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ลำต้น, ใบ)
- สารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (เมล็ด)
- ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือถุงน้ำดี (ราก)
- ราชพฤกษ์มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
- ฝักราชพฤกษ์มีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ฝัก)
- ช่วยแก้ไข้รูมาติกด้วยการใช้ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- ฝักอ่อนมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด สรรพคุณสามารถใช้ขับเสมหะได้ (ฝักอ่อน)
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ฝัก)
- เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้ (เมล็ด, ฝัก)
- ต้นราชพฤกษ์ สรรพคุณของกระพี้ใช้แก้อาการปวดฟัน (กระพี้)
- ในอินเดียมีการใช้ฝัก เปลือก ราก ดอก และใบมาทำเป็นยา ใช้เป็นยาแก้ไข้และหัวใจ แก้อาการหายใจขัด ช่วยถ่ายของเสียออกจากร่างกาย แก้อาการซึมเศร้า หนักศีรษะ หนักตัว ทำให้ชุ่มชื่นทรวงอก (เปลือก, ราก, ดอก, ใบ, ฝัก)
- สรรพคุณราชพฤกษ์ช่วยแก้โรครำมะนาด (กระพี้, แก่น)
- ช่วยรักษาเด็กเป็นตานขโมยด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ฝัก)
- ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก (เนื้อในฝัก)
- ฝักแก่ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวก ไม่มวนท้อง แก้อาการท้องผูก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ และสตรีมีครรภ์ เพราะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone glycoside) เป็นตัวช่วยระบาย สำหรับวิธีการใช้ ให้ใช้ฝักแก่ขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ (หนักประมาณ 4 กรัม) และน้ำอีก 1 ถ้วยแก้วใส่หม้อต้ม แล้วผสมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าหรือช่วงก่อนนอนเพียงครั้งเดียว (ฝักแก่, ดอก, เนื้อในฝัก, ราก, เมล็ด)
- เมล็ดมีรสฝาดเมา สรรพคุณช่วยแก้ท้องร่วง (เมล็ด)
- ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและแผลเรื้อรัง (ดอก)
- ช่วยรักษาโรคบิด (เมล็ด)
- สรรพคุณของราชพฤกษ์ ฝักช่วยแก้อาการจุกเสียด (ฝัก)
- ช่วยทำให้เกิดลมเบ่ง ด้วยการใช้เมล็ดฝนกับหญ้าฝรั่น น้ำดอกไม้เทศ และน้ำตาล แล้วนำมากิน (เมล็ด)
- ฝักและใบมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิ ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ, ฝัก, เนื้อในฝัก)
- ต้นคูณมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิไส้เดือนในท้อง (แก่น)
- เปลือกฝักมีรสเฝื่อนเมา ช่วยขับรกที่ค้าง ทำให้แท้งลูก (เปลือกฝัก)
- สารสกัดจากใบคูนมีฤทธิ์ช่วยต้านการเกิดพิษที่ตับ (ใบ)
- สรรพคุณของคูน รากใช้แก้โรคคุดทะราด (ราก)
- ใบสามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคบนผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ (ใบ)
- ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง (ใบ)
- รากนำมาฝนใช้ทารักษากลากเกลื้อน และใบอ่อนก็ใช้แก้กลากได้เช่นกัน (ราก, ใบ)
- เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทาแก้เม็ดผดผื่นตามร่างกายได้ (เปลือก, ใบ)
- เปลือกมีสรรพคุณช่วยแก้ฝี แก้บวม หรือจะใช้เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทารักษาฝี (เปลือก, ใบ)
- คูน สรรพคุณของดอกช่วยแก้บาดแผลเรื้อรัง รักษาแผลเรื้อรัง (ดอก)
- เปลือกราชพฤกษ์ สรรพคุณช่วยสมานบาดแผล (เปลือก)
- ฝักคูณมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดข้อ (เนื้อในฝัก)
- ชาวอินเดียใช้ใบนำมาโขลก นำมาพอกแล้วนวด ช่วยแก้โรคปวดข้อและอัมพาต (ใบ)
- ช่วยกำจัดหนอนและแมลง โดยฝักแก่มีสารออกฤทธิ์ที่ส่งผลต่อระบบประสาทของแมลง เมื่อนำฝักมาบดผสมกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วใช้สารละลายที่กรองได้มาฉีดพ่นจะช่วยกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักได้ (ฝักแก่)
- สารสกัดจากรากราชพฤกษ์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholinesterase
- นอกจากนี้ยังมีการนำสมุนไพรราชพฤกษ์มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น
- น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ที่เคี่ยวมาจากน้ำมันจากใบคูน เป็นน้ำมันนวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ที่ใช้นวดแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ปัญหาเรื่องเส้น
- ลูกประคบราชตารู เป็นลูกประคบสูตรโบราณ ที่ใช้ใบคูนเป็นตัวยาตั้งต้น ประกอบไปด้วย ขมิ้นอ้อย เทียนดำ กระวาน และอบเชยเทศ โดยลูกประคบสูตรนี้จะใช้ปรุงตามอาการ โดยจะดูตามโรคและความต้องการเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน
- ผงพอกคูนคาดข้อ ทำจากใบคูนที่นำมาบดเป็นผง ช่วยแก้อาการปวดเส้น อัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำมาพอกบริเวณที่เป็นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งสูตรนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ตาไม่หลับ มุมปากตกได้ด้วย
- ชาสุวรรณาคา ทำจากใบคูน สรรพคุณช่วยในด้านสมอง แก้ปัญหาเส้นเลือดตีบในสมอง ช่วยให้ระบบไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น ช่วยแก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยเป็นตัวยาที่มีไว้ชงดื่มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ
ข้อควรระวัง ! :การทำเป็นยาต้ม ควรต้มให้พอประมาณจึงจะได้ผลดี หากต้มนานเกินไปหรือเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์ระบาย แต่จะทำให้ท้องผูกแทน และควรเลือกใช้ฝักที่ไม่มากจนเกินไป และยาต้มที่ได้หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้
ประโยชน์ของราชพฤกษ์
- นิยมปลูกไว้เป็นต้นไม้ประดับตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานที่ราชการ บริเวณริมถนนข้างทาง และสถานที่อื่น ๆ
- ต้นราชพฤกษ์กับความเชื่อ ต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลนามที่คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติและศักดิ์ศรี สาเหตุเพราะคนให้การยอมรับว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูงและยังเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยอีกด้วย และยังเชื่อว่าจะทำให้ผู้อยู่อาศัยนั้นเจริญรุ่งเรือง โดยจะนิยมปลูกต้นราชพฤกษ์ในวันเสาร์และปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน (อาจเป็นเพราะทิศดังกล่าวได้รับแสงแดดจัดในช่วงตอนบ่าย เลยปลูกไว้เพื่อช่วยลดความร้อนภายในบ้านและช่วยประหยัดพลังงาน)
- ต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลและศักดิ์สิทธิ์ ใช้ทำเป็นน้ำพุทธมนต์ในพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา เช่น พิธีวางศิลาฤกษ์ ใช้ทำเสาหลักเมือง เสาเอกในการก่อสร้างพระตำหนัก ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร คทาจอมพล ส่วนใบของต้นราชพฤกษ์จะใช้ทำเป็นน้ำพุทธมนต์ไว้สะเดาะเคราะห์ได้ผลดีนัก เป็นต้น
- เนื้อไม้ใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ด้ามเครื่องมือต่าง ๆ หรือทำเป็นไม้ไว้ใช้สอยอื่น ๆ เช่น ใช้ทำเสา เสาสะพาน ทำสากตำข้าว ล้อเกวียน คันไถ เป็นต้น
- เนื้อของฝักแก่สามารถนำมาใช้แทนกากน้ำตาลในการทำเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์และจุลินทรีย์ขยายได้
- ฝักแก่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มด้วยเตาเศรษฐกิจที่มีขนาดพอเหมาะ โดยไม่ต้องผ่า ตัด หรือเลื่อย
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, เว็บไซต์ไทยโพส, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพประกอบ : www.mayureesaen.wordpress.com, www.learners.in.th วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), by S.Q.Mehdi
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น