มะยม
มะยม
มะยม ชื่อสามัญ Star gooseberry
มะยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus (L.) Skeels จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
สมุนไพรมะยม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากยม หมักยม (ภาคอีสาน), ยม (ภาคใต้) เป็นต้น
มะยม จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เปลือกของลำต้นขรุขระมีสีเทาปนน้ำตาล ใบมะยมเป็นใบประกอบ มีย่อยออกเรียงสลับกันเป็น 2 แถว ลักษณะของผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว แต่ถ้าแก่แล้วจะเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำมาก ในผลมีเมล็ดกลม ๆ สีน้ำตาล 1 เมล็ด สำหรับรสชาติจะมีรสหวานอมฝาด
มะยมนั้นมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยลักษณะเด่นของต้นตัวผู้จะออกดอกเต็มต้นแต่ไม่ติดลูก ส่วนต้นมะยมตัวเมียนั้นจะมีดอกน้อยกว่า ซึ่งในทางการแพทย์นั้นนิยมใช้มะยมตัวผู้เป็นหลักทั้งใบและราก เพราะมีสรรพคุณทางยาค่อนข้างสูงกว่ามะยมตัวเมีย
ข้อควรระวัง : น้ำยางจากเปลือกของรากมะยมจะมีพิษเล็กน้อย การรับประทานเข้าไปอาจจะมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ และมีอาการง่วงซึมได้ ควรระวังน้ำยางจากเปลือกรากให้ดี
สำหรับความเชื่อในตำราพรหมชาติฉบับหลวง ระบุไว้ว่าให้ปลูกต้นมะยมในทางทิศตะวันตก จะช่วยป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้มากล้ำกราย และเชื่อว่ามะยมเป็นต้นไม้มงคลนาม ซึ่งคล้ายกับคำว่า “นิยม” ซึ่งเชื่อว่าผู้ปลูกจะมีเมตตามหานิยม
ประโยชน์ของมะยม
- ผลมะยมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยชะลอวัยและความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้
- ผลไม้มะยมช่วยดับร้อนและปรับสมดุลในร่างกาย
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ผลแก่นำมาดองในน้ำเชื่อมจนครบ 3 วัน (น้ำ 1 ส่วน / น้ำตาล 3 ส่วน) แล้วนำมารับประทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ
- มะยมมีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้ผลแก่นำมาดองในน้ำเชื่อมจนครบ 3 วัน (น้ำ 1 ส่วน / น้ำตาล 3 ส่วน) แล้วนำมารับประทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ
- ดอกสดของมะยม นำมาต้มกรองเอาแต่น้ำใช้แก้โรคตา ชำระล้างดวงตา (เป็นสูตรโบราณ ปัจจุบันไม่ขอแนะนำให้ทำ)
- สรรพคุณช่วยแก้ไข้ทับระดู ระดูทับไข้ ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกของลำต้น)
- ช่วยแก้ไข้ (ราก)
- น้ำมะยมช่วยต้านหวัดได้เพราะมีวิตามินซีสูง
- ผลมะยมมีฤทธิ์กัดเสมหะ ดับพิษเสมหะ ด้วยการรับประทานผลสุกหรือดิบก็ใช้ได้
- ผลใช้เป็นยาระบาย
- ใช้แก้น้ำเหลืองเสียให้แห้ง (ราก)
- ช่วยรักษาเม็ดผดผื่นคันหรือแก้โรคประดง (โรคผื่นคันตามผิวหนัง) ด้วยการใช้รากประมาณ 1 กิโลกรัมนำมาต้มกับน้ำ 10 ลิตร ต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที ทิ้งไว้ให้อุ่นแล้วนำมาอาบ และควรทำควบคู่ไปกับการใช้รากฝนกับน้ำซาวข้าวทาบริเวณผดผื่นที่เป็นด้วย (ราก)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ราก)
- มะยมมีประโยชน์ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ โรคไขข้ออักเสบ ด้วยการนำผลมาตำรวมกับพริกไทยแล้วพอกบริเวณที่ปวด
- นิยมรับประทานเป็นผลไม้สดและมีการนำมาประกอบอาหาร เช่น ใช้ทำส้มตำ ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดกินกับน้ำพริก ลาบ ขนมจีน ส้มตำ
- มีการนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น มะยมแช่อิ่ม มะยมดอง มะยมเชื่อม น้ำมะยม มะยมแยม มะยมกวน หรือนำมาใช้ทำเป็นน้ำส้มสายชู
สรรพคุณของมะยม
- ใบมะยมแก้เบาหวาน ด้วยการใช้ใบสดและรากใบเตยพอประมาณนำมาใส่หม้อ เติมน้ำแล้วต้มเอาน้ำดื่ม ซึ่งจะช่วยไปกระตุ้นตับอ่อนให้แข็งแรงและสามารถผลิตน้ำตาลในภาวะสมดุลโดยไม่ต้องพึ่งอินซูลินจากภายนอก
- ช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการใช้ใบแก่พร้อมก้านประมาณ 1 กำมือ นำมาใส่หม้อเติมน้ำพอท่วม ใส่น้ำตาลเล็กน้อยเพื่อดับรสเฝื่อน ต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที แล้วนำมาดื่มจนความดันเป็นปกติแล้วจึงหยุดรับประทาน (สูตรทางเลือก ท่านใดที่รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันอยู่แล้วไม่ควรหยุดยาที่แพทย์ให้รับประทาน)
- ใบช่วยบำรุงประสาท
- ใบมะยมมีสรรพคุณทางยา ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบมะยมแก่รวมก้าน 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำตาลกรวดพอประมาณไม่ให้หวานมาก นำมาต้มจนเดือด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า-เย็น
- แก้ไข้เหือด ไข้หัด ด้วยการใช้ใบต้มกับน้ำแล้วนำมาอาบ
- ใบช่วยแก้สำแดง
- ใบมะยมมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคอีสุกอีใส ด้วยการใช้ใบต้มกับน้ำแล้วนำมาอาบ
- ใบนำมาใช้ต้มน้ำอาบแก้พิษคัน
- นำมาใช้ปรุงเป็นส่วนประกอบของยาเขียว
- ใช้เป็นอาหารได้
- ช่วยทำให้ผู้ที่มีอาการติดเหล้า สามารถเลิกเหล้าได้โดยเด็ดขาด ด้วยการใช้รากมะยมตัวผู้ นำมาสับเป็นชิ้นบาง ๆ จำนวน 10 ชิ้น ชิ้นละ 2 ข้อมือแล้วนำไปย่างไฟก่อน แล้วนำมาตากแดด 3 แดด แล้วจึงนำไปดองในเหล้าขาวพอท่วมยาประมาณ 5 วัน แล้วนำมาดื่ม ยิ่งช่วงกำลังเมาจะยิ่งดี เมื่อดื่มไปได้ไม่ถึงครึ่งแก้ว จะคลุ้มคลั่งและอาเจียนออกมา ซึ่งช่วงนี้ให้ระวังไว้ให้มาก เพราะอาจจะดิ้นคลุ้มคลั่งประสาทหลอนกันพักใหญ่ ต้องหาคนมาช่วยกันจับ ถ้าหมดช่วงนี้ไปได้ก็จะเป็นปกติ และไม่อยากดื่มเหล้าอีกเลย (อ้างอิง : คุณจำรัส เซ็นนิล, คุณสมจิต คำน้อย )
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์, ทวีทอง หงส์วิวัฒน์), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น